— เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยในวันนี้ว่า ภูมิภาคเอเชียจะเผชิญกับแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อสูง (stagflation) ท่ามกลางความไม่แน่นอนอย่างมาก โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ และเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น
นางแอน-มารี กูลด์-วอล์ฟ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียและแปซิฟิกของ IMF ระบุว่า ขณะที่ภูมิภาคเอเชียมีการลงทุนด้านการค้าและการเงินอย่างจำกัดในรัสเซียและยูเครน แต่เศรษฐกิจเอเชียจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตความขัดแย้งระหว่างสองประเทศดังกล่าว เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในยุโรปชะลอตัวลง
— เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียแจ้งต่อบริษัทน้ำมันปาล์มในวันนี้ว่า คำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มที่มีการประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะมีผลบังคับใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มโอเลอิน ซึ่งได้จากการนำน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์มาผ่านกระบวนการฟอกสี ขจัดกลิ่น และลดกรดไขมันอิสระ (RBD olein) เท่านั้น แต่จะไม่รวมถึงการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซีย ได้สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้บริโภคน้ำมันพืชทั่วโลกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยการประกาศว่าอินโดนีเซียจะระงับการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ
— ผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางรัสเซียจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2% สู่ระดับ 15% ในการประชุมนโยบายการเงินในวันศุกร์นี้
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าธนาคารกลางจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้ภาคธนาคารปล่อยเงินกู้มากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
— รัฐบาลญี่ปุ่นจะอัดฉีดงบประมาณราว 6.2 ล้านล้านเยน เพื่อเป็นเงินอุดหนุนและใช้สำหรับมาตรการอื่น ๆ ที่มุ่งบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากราคาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสงครามในยูเครน
แม้ว่างบใช้จ่ายดังกล่าวจะดูเล็กน้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณพิเศษมูลค่า 36 ล้านล้านเยนของปีงบประมาณที่แล้ว แต่ก็ตอกย้ำถึงความท้าทายที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญในการบรรลุการเติบโตอย่างยั่งยืน
— ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญที่เปิดเผยในวันนี้ เกาหลีใต้เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2565, ญี่ปุ่นเปิดเผย อัตราว่างงานเดือนมี.ค., อินโดนีเซียเปิดเผยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไตรมาส 1/2565 และสหรัฐเปิดเผยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมี.ค., ราคาบ้านเดือนก.พ.จากเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ยอดขายบ้านใหม่เดือนมี.ค., ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จาก Conference Board และดัชนีการผลิตเดือนเม.ย.จากเฟดริชมอนด์
อ้างอิง อินโฟเควสท์